วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เทศกาลและประเพณีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

งานศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
จัดขึ้นปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภายในงานมีการแสดง ทางวัฒนธรรม สาธิตการผลิตสินค้าหัตถกรรม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ ศูนย์ฯ และการละเล่นพื้นบ้าน
งานเทศกาลสงกรานต์
จัดในวันที่ 13 เมษายน หน้าวิหารพระมงคลบพิตร มีขบวนแห่ตามประเพณีของชาวอยุธยาและขบวนแห่เถิดเทิง สรงน้ำพระมงคลบพิตร จำลอง และประกวดนางสงกรานต์
พิธีไหว้ครูบูชาเตา
เป็น "พิธีไหว้ครู" ของช่างตีมีดตีดาบที่รู้จักทั่วไปว่า "มีดอรัญญิก" ที่บ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนองและบ้านสาไล ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง บรรพชนของชาวบ้านเหล่านั้น เป็นชาวเวียงจันทน์เข้ามาตั้งรกรากอยู่ ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีอาชีพในการตีทองและตีเหล็ก แต่ต่อมาเลิก ทำทองจึงเหลือแต่การตีเหล็กอย่างเดียว เหล็กที่ตีนี้ส่วนใหญ่ทำเป็นมีดดาบ และอาวุธ ตลอดจนเครื่องใช้อื่น ๆ ซึ่งมีคุณภาพดีมากเมื่อทำเสร็จแล้วก็นำ มาขายที่หมู่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จึงเรียกว่ามีด "อรัญญิก" สิ่งที่ชาวตำบลท่าช้างทุกคนยังคงถือสืบต่อมา ตามขนบประเพณีเดิมคือการ "ไหว้ครูบูชาเตา " ซึ่งทุกบ้านจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 7 ค่ำ 9 ค่ำ ฯลฯ เดือน 5 (ประมาณเมษายน-พฤษภาคม) ตามแต่ความสะดวก เพื่อระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์และ เพื่อความเป็นสิริมงคลของตน ทั้งยังเป็นการปัดเป่าเหตุร้ายต่าง ๆ ในการตีเหล็กอีกด้วย
งานลอยกระทงตามประทีปและแข่งเรือยาวประเพณี
จัดขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน ณ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร มีการประกวดนางนพมาศ ประกวดขบวนแห่ ประกวดกระทง-โคมแขวน การแสดงและการละเล่นพื้นบ้าน การแข่งเรือยาวประเพณี และ เรือยาวนานาชาติ จำหน่ายอาหาร และสินค้ามากมาย
งานแสดงแสงเสียงอยุธยามรดกโลก
เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศโดยองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ทางจังหวัดจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกปี ระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม เป็นระยะเวลา 7 วัน ในงานจะมีการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปหัตถกรรม วัฒนธรรมและประเพณีของไทย รวมทั้งการแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

น้ำท่วมใหญ่๒๕๕๔เริ่มลดแล้ว กวาดล้างแล้วน่าจะทำบุญใหญ่(ทุกบุญไทย มอญ พม่า คริสต์ อิสลาม ฯลฯ)จะได้เป็นกุศลใหม่ และขอขอบใจ ที่ช่วยกันรัก และรักษา'อยุธยาไว้ ^^